เริ่มปั๊มนมเมื่อไหร่ดี

สำหรับคุณแม่ที่ลูกดูดนมจากเต้าได้ดี ไม่มีปัญหา

อย่าลืมว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีที่สุดคือการให้ลูกดูดจากเต้าการปั๊มนมแม่แล้วใส่ขวดป้อนสู้ให้ลูกดูดจากเต้าไม่ได้ แต่สำหรับคุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านไม่ได้อยู่กับลูกตลอดเวลาการปั๊มนมแล้วป้อนด้วยขวดหรือวิธีอื่นๆเป็นเรื่องจำเป็น  คุณแม่ที่โชคดีได้อ่านคู่มือนี้ก่อนคลอดขอให้ตั้งเป้าไว้เลยว่าจะต้องให้ลูกดูดนมจากเต้าภายในเดือนแรกโดยไม่ใช้ขวดนมหรือนมผสมหลังจากครบหนึ่งเดือนจึงค่อยหัดให้ลูกดูดจากขวดหรือป้อนด้วยวิธีอื่น  แล้วเราจะเริ่มปั๊มนมเมื่อไหร่ดีกฎทองแห่งความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดให้ถูกวิธี การจะเป็นคุณแม่นักปั๊มที่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องอาศัยกฎ 3ข้อเช่นกัน คือ ปั๊มเร็ว ปั๊มบ่อย ปั๊มด้วยเครื่องดีๆ

หลังคลอดต้องให้ลูกดูดนมเร็วที่สุด ภายใน ½-1 ชม.แรกหลังคลอดยิ่งดีตอนที่เริ่มดูดใหม่ๆน้ำนมจะยังไม่มาในทันทีแต่น้ำนมจะเริ่มมาหลังจาก 2-3 วันซึ่งในช่วง 2-3วันแรกที่อยู่รพ.นั้นลูกจะนอนเป็นส่วนใหญ่เวลาดูดนมก็จะดูดไม่ค่อยนานดูดไม่ค่อยเก่งถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรเริ่มปั๊มนมตั้งแต่วันแรกเลยโดยปรับแรงดูดให้เบาที่สุดปั๊มประมาณ 5-10 นาที ทุก 2-3 ชม. ถ้ารู้สึกเจ็บให้หยุดปั๊มทันทีอย่าทนเพราะอาจทำให้หัวนมแตกได้พักสัก 2-3 ชม. ค่อยลองใหม่ถ้ายังเจ็บอยู่อาจจะใช้ปั๊มมือหรือใช้มือบีบแทนวันต่อๆมาอาการเจ็บจะลดลง

น้ำนมที่ปั๊มได้ในวันแรกๆ จะเป็นหัวน้ำนมหรือ Colostrum ปริมาณน้อยๆ แค่ติดก้นขวด เมื่อปั๊มได้ให้ป้อนด้วยช้อนได้เลย ไม่ต้องเก็บไว้ เมื่อกลับบ้านถ้าปรับตัวกับการปั๊มนมได้แล้วเวลาปั๊มไม่รู้สึกเจ็บแล้วถ้าลูกดูดนมได้ดีตอนกลางวันพยายามหัดให้ลูกดูดข้างนึงและปั๊มนมอีกข้างนึงไปพร้อมๆกันใช้เวลาปั๊มประมาณ 10 นาที ให้หยุดปั๊มเก็บน้ำนมที่ปั๊มได้ไว้ต่างหากเพื่อเป็นสต็อค ไม่ควรนำมาให้ลูกกิน เมื่อลูกดูดข้างแรกเสร็จให้ย้ายมาดูดข้างที่เพิ่งปั๊มไปซ้ำอีกรอบมื้อต่อไปก็สลับข้างกันให้ดูดข้างที่ปั๊มก่อนแล้วก็ปั๊มข้างที่ดูดไปแล้วตั้งเป้าให้ได้ 3-5ครั้งในตอนกลางวันตอนกลางคืนถ้าให้ลูกดูดตลอดเวลาอาจจะไม่ต้องปั๊มก็ได้เพราะจะทำให้เหนื่อยเกินไปยกเว้นกลางคืนลูกนอนยาวไม่ตื่นมาดูดให้ปั๊มอย่างน้อยหนึ่งครั้งตอนกลางคืน

น้ำนมที่เก็บเพิ่มได้ในแต่ละวันรวมๆกันวันแรกๆอาจจะได้แค่ 1-2 ออนซ์ก็ถือว่าใช้ได้แล้วทำไปเรื่อยๆจะค่อยๆเพิ่มขึ้นเองถ้ามีน้ำนมส่วนเกินที่ลูกดูดได้ถึงวันละ 10 ออนซ์เมื่อไหร่ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วจะทำเหมือนเดิมต่อไป (ดูดข้างนึง/ปั๊มข้างนึง)หรือจะเพิ่มการปั๊มระหว่างมื้อนมของลูกอีกก็ได้โดยปั๊มประมาณ 10นาทีพร้อมกันสองข้างหลังจากลูกดูดไปแล้ว 1ชม.ยิ่งปั๊มบ่อยน้ำนมยิ่งเยอะแต่ขอให้ยึดหลักว่าคุณแม่ต้องสามารถทำได้โดยที่ไม่เหนื่อยจนเกินไปต้องพักผ่อนกินอาหารและดื่มน้ำให้พอเพียงอยู่เสมอเพราะถ้าร่างกายไม่พร้อมแม้จะปั๊มนมบ่อยๆก็อาจจะไม่ค่อยได้น้ำนมเมื่อครบเดือนน่าจะมีน้ำนมสต็อคอยู่พอสมควรแล้วให้เริ่มหัดดูดขวดได้เพื่อเตรียมพร้อมก่อนที่แม่จะไปทำงาน

สำหรับคุณแม่ที่ลูกไม่ดูดเต้า

ปั๊มนมอย่างไรให้พอ หากลูกไม่ดูดจากเต้า

เป้าหมาย: ปั๊มน้ำนมให้ได้ปริมาณเต็มที่ 25-35 ออนซ์ต่อวันภายใน 10-14 วัน หลังคลอดโดยไม่ต้องคำนึงว่าลูกจะกินแค่ไหนร่างกายของคุณแม่พร้อมที่จะผลิตน้ำนมแล้วถ้ารอนานเกินไปมันอาจจะยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ที่เพิ่มปริมาณน้ำนมให้ได้ถึงระดับนี้ หลังจากคลอดเริ่มต้นปั๊มนมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้โดยปั๊มให้ได้ 8-10 ครั้งทุก 24 ชม. (เท่ากับจำนวนครั้งที่ลูกดูดต่อวัน) ยิ่งปั๊มได้บ่อยแค่ไหนต่อวันก็จะยิ่งทำให้เต้านมผลิตน้ำนมได้มากขึ้นเท่านั้นเลือกใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดีแบบที่สามารถปั๊มพร้อมกันสองข้างได้

  • จนกว่าน้ำนมจะมาจริงๆในวันที่ 3 หรือ 4 หลังคลอด ให้ปั๊มนมเป็นเวลาอย่างน้อย 10-15 นาทีต่อข้าง ต่อการปั๊มแต่ละครั้ง
  • เมื่อปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้นแล้วพยายามปั๊มให้นานขึ้น(บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้) อย่างน้อย 20-30 นาที หรือปั๊มต่ออีก 2 นาทีหลังจากน้ำนมถูกปั๊มออกหมดแล้วแล้วแต่กรณีใดจะเกิดก่อน(การปั๊มให้เกลี้ยงเต้าจะช่วยให้น้ำนมผลิตได้เร็วขึ้ตั้งเป้าที่จำนวนครั้งของการปั๊มต่อวันไม่ใช่ระยะห่างของการปั๊มแต่ละครั้งถ้าคุณตั้งเป้าว่าจะต้องปั๊มทุกกี่ชม. ถ้าการปั๊มครั้งหนึ่งช้าไปบ้างจะทำให้จำนวนครั้งในการปั๊มต่อวันลดลงไปโดยไม่รู้ตัว (จำนวนครั้งต่อวันเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นน้ำนม)
  • เวลาวางแผนการปั๊มพยายามคิดว่า "จะปั๊มให้ได้ 10 ครั้งหรือมากกว่าได้อย่างไร"
  • ถ้าบางช่วงของวันไม่สามารถปั๊มนมได้ในช่วงที่ทำได้ให้ปั๊มทุกชั่วโมงเพื่อให้ถึงจำนวนครั้งเป้าหมายที่กำหนด (8-10 ครั้งต่อวัน)
  • ก่อนที่จะถึงเป้าหมาย 25-35 ออนซ์ต่อวันให้ปั๊มตอนกลางคืนอย่างน้อยหนึ่งครั้งและอย่าให้ช่วงห่างระหว่างการปั๊มแต่ละครั้งนานเกินกว่า 5 ชม.(เต้านมที่คัดมากๆและไม่ได้ระบายออกจะทำให้การผลิตน้ำนมช้ลง) 
  • เมื่อสามารถปั๊มได้ตามเป้าหมาย 25-35 ออนซ์ต่อวัน อาจจะลดจำนวนครั้งที่ปั๊มลงได้ และยังคงรักษาระดับปริมาณน้ำนมนี้ไว้ได้
  • ลดจำนวนครั้งในการปั๊มเป็น 5-7 ครั้งต่อวันซึ่งเป็นจำนวนครั้งที่คุณแม่ส่วนใหญ่สามารถรักษาระดับปริมาณการผลิตน้ำนมไว้ได้คงที่
  • อาจจะไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาปั๊มตอนกลางคืนบางคนอาจจะปั๊มก่อนเข้านอนและปั๊มอีกครั้งทันทีที่ตื่นตอนเช้าก็ได้
  • เมื่อปริมาณน้ำนมถึงจุดที่กำหนดแล้วปั๊มเพียง 10-15 นาทีต่อครั้งก็พอ
  • สังเกตปริมาณน้ำนมสัปดาห์ละครั้งด้วยการจดบันทึกปริมาณน้ำนมที่ได้ในแต่ละวัน

ถ้าต้องการเพิ่มปริมาณน้ำนม ยิ่งเริ่มต้นปฏิบัติได้เร็วเท่าใด ผลสำเร็จก็ยิ่งเร็วขึ้นเท่านั้น

จาก "How to Established a Full Milk Supply with a Breast Pump" โดย Nancy Mohrbacher