20 เคล็ดลับสำหรับแม่ทำงาน

แต่ไหนแต่ไรมาผู้หญิงเราล้วนแล้วแต่ต้องให้นมลูกไปด้วยทำงานไปด้วยผู้หญิงเมื่อหลายร้อยปีก่อนก็มีงานที่ต้องรับผิดชอบมากมายนอกเหนือจากการให้นมลูกแม้แต่ผู้หญิงยุคใหม่ที่อยู่บ้านก็ใช่ว่าจะเลี้ยงลูกแค่อย่างเดียวไหนจะรับผิดชอบงานบ้านอันแสนจะยุ่งเหยิงไหนจะรับมือกับเจ้าตัวเล็กที่จริงแล้วการจัดสรรเรื่องงานกับการให้นมลูกไม่ใช่แนวความคิดใหม่เอี่ยมถอดด้ามอะไรผู้หญิงยุคนี้จำนวนมากจำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในบ้านแต่ถึงจะกลับไปทำงานแล้วแม่ทำงานก็ยังให้นมแม่กับเจ้าตัวน้อยต่อไปได้เรามีเคล็ดลับ 20 วิธีสำหรับแม่ทำงานมาแนะนำ

ช่วงลาคลอด

1.มุ่งมั่นว่าเราต้องทำได้  แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายบางวันอาจจะมีความรู้สึกแวบเข้ามาในใจว่านี่ฉันกำลังทำอะไรอยู่นี่ทำไมต้องลำบากขนาดนี้แล้วที่อุตส่าห์ลงทุนลงแรงขนาดนี้นี่คุ้มค่าหรือเปล่าคุณจะรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียดเจ้าปั๊มเพื่อนยากกลับไปกลับมาเป็นพักๆไหนจะน้ำนมที่ไหลเปียกเสื้อให้ต้องอับอายขายหน้าไหนจะขี้ปากเพื่อนร่วมงานที่ไม่ช่วยแล้วยังคอยพูดให้เสียกำลังใจบางครั้งอาจจะถึงขนาดอยากโยนปั๊มทิ้งแล้วหันไปคว้านมผงมาชงซะให้รู้แล้วรู้รอดแต่ช้าก่อนเชื่อเถอะว่าถ้าคุณตั้งใจมุ่งมั่นว่าเราต้องทำได้แล้ว อุปสรรคอะไรก็หยุดคุณไม่ได้และถ้าคุณเชื่อว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำคัญสำหรับทั้งคุณและลูกอะไรก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปแถมหลังเลิกงานและวันหยุดคุณก็ยังสามารถให้ลูกดูดนมจากอกคุณได้เหมือนเมื่อตอนก่อนกลับไปทำงานโดยไม่ต้องง้อขวดนมอีกด้วย

คุณอาจจะกังวลว่าการให้นมแม่หลังกลับไปทำงานแล้วเป็นเรื่องยุ่งเกินจะรับไหวหรืออาจจะเคยได้ยินเพื่อนบางคนเล่าถึงความยากลำบากในการปั๊มนมและจัดสรรเวลาการให้นมลูกการทำงานควบคู่ไปกับการดูแลเด็กเล็กเป็นเรื่องยากคุณต้องวิเคราะห์ทางเลือกที่มีอยู่ทั้งหมดแล้ววางแผนว่าจะจัดการอย่างไรจึงจะดีที่สุดถ้ายังลังเลอยู่ว่าจะให้นมแม่หลังกลับไปทำงานดีไหมก็อาจจะตั้งเป้าทดลองอย่างน้อย 30วัน จะได้มีเวลามากพอจะหาทางออกให้กับปัญหาที่พบเจอแล้วคุณจะรู้ว่ารางวัลที่คุณกับเจ้าตัวน้อยของคุณได้รับมันคุ้มค่าขนาดไหนเชื่อเถอะว่าคุณทำได้ 

2. สร้างความผูกพัน เลิกตั้งคำถามว่า “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า...” เช่น “ถ้าลูกไม่ยอมดูดนมขวด จะทำยังไง” “ถ้าลูกติดนมแม่ ต้องให้ดูดถึงจะยอมนิ่งล่ะ” “ตอนอยู่บ้านก็ปั๊มได้แค่ติดก้นขวด กลับไปทำงานจะปั๊มพอให้ลูกกินได้ยังไง”

อย่าให้ความวิตกกังวลพวกนี้มาขัดขวางช่วงเวลาของคุณกับลูกในสัปดาห์แรกๆหลังคลอดปัญหาทุกอย่างมีทางออกการวางแผนล่วงหน้าเป็นเรื่องดีแต่ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวมากมายเกินเหตุอย่าให้ความวิตกกังวลเรื่องการกลับไปทำงานทำให้ช่วงเวลาดีๆของการเป็นแม่เต็มตัวในระหว่างลาคลอดเสียไปถึงจะลาคลอดได้แค่แป๊บเดียวก็ไม่เป็นไร ใช้เวลาช่วงสั้นๆนี้สร้างสายใยความผูกพันกับเจ้าตัวน้อยให้คุ้มค่านึกเสียว่าเหมือนกับไปฮันนีมูนใช้เวลาด้วยกันให้เต็มที่พยายามให้มีเรื่องเข้ามารบกวนให้น้อยที่สุดโอกาสแบบนี้ผ่านไปแล้วไม่กลับมาอีกเป็นรอบสองฉะนั้นจงตักตวงช่วงเวลานี้เอาไว้ให้มากที่สุดตู้เสื้อผ้าที่รกรุงรังเอาไว้จัดปีหน้าหรืออีกห้าปีข้างหน้าก็ยังไม่สายให้เวลาทั้งหมดกับลูกน้อย ช่วงสัปดาห์แรกๆหลังคลอดนี่แหละที่แม่จะตกหลุมรักลูกจนหมดหัวใจและการที่คนซึ่งเพิ่งจะรักกันสองคนจะรู้จักกันดีขึ้นก็ต้องอาศัยเวลาซักพัก

ถ้าถามว่าแล้วมันทำให้แม่ทำใจยากขึ้นเวลาต้องกลับไปทำงานไหมล่ะ ก็อาจจะใช่แม่บางคนพยายามทุกวิถีทางที่จะยืดเวลาที่จะได้อยู่กับลูกให้นานขึ้นแม่ที่ใช้เวลาอยู่กับลูกเต็มที่ในช่วงแรกนี้เมื่อกลับไปทำงานจะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะรักษาสายสัมพันธ์อันนี้ไว้และผลดีก็ตกกับลูกเต็มๆ

3.เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ ยิ่งคุณทำให้การให้นมลูกในช่วงสัปดาห์แรกๆราบรื่นเท่าไรโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการให้นมหลังกลับไปทำงานก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้นให้ลูกดูดนมเร็วที่สุดหลังคลอดและพยายามกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมให้ได้มากๆการให้ลูกดูดนมทุกครั้งตามที่เขาต้องการจะช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้มากพอสำหรับลูกเจ้าตัวเล็กยังต้องฝึกดูดนมให้เก่งเพื่อจะได้ไม่เกิดอาการสับสนเมื่อต้องดูดจุกนมยางภายหลังเรียนรู้เรื่องการให้นมลูกให้ได้มากที่สุดในช่วงนี้มันจะช่วยให้คุณแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังได้ง่ายขึ้น

ลางานให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ยิ่งลาได้นานเท่าไรก็ยิ่งให้นมหลังกลับไปทำงานได้ง่ายขึ้นเท่านั้นใช้วันลาพักร้อนหรือวันลาอื่นที่มีถ้าลาแบบไม่รับเงินเดือนต่อได้ยิ่งดี (เงินเดือนที่เสียไปอาจจะกลายเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดที่คุณเคยทำมาก็ได้) ถ้าหางานแบบพาร์ทไทม์ทำได้ก็จะช่วยให้การให้นมลูกต่อทำได้ง่ายขึ้นหากลูกจำเป็นต้องได้รับนมแม่เพราะคลอดก่อนกำหนดหรือเป็นภูมิแพ้อาจจะให้หมอช่วยออกใบรับรองแพทย์ให้คุณลางานได้ยาวขึ้นอีก 

 

วางแผนกลับไปทำงาน

4. ศึกษาทางเลือกที่มีอยู่ ลองนึกดูว่าคุณมีทางเลือกอะไรอยู่บ้างหลังกลับไปทำงาน

  • พาลูกไปด้วยแม่ที่ทำธุรกิจส่วนตัวอาจพาลูกไปที่ทำงานด้วยหาที่เหมาะๆให้เจ้าตัวเล็กนอนเปลี่ยนผ้าอ้อมและคลานเล่นแค่นี้ก็เรียบร้อย
  • ใช้เป้อุ้มจะได้ทำงานบางอย่างไปได้ด้วยไม่ว่าจะเป็นขายของจัดเอกสารทำคอมพิวเตอร์หรือแม้กระทั่งเข้าประชุมอาจจะทำให้ต้องทำงานนานขึ้นหน่อยหรือได้เงิน น้อยหน่อยแต่ก็ช่วยประหยัดค่าจ้างพี่เลี้ยงลูกได้แถมแม่กับลูกก็จะมีความสุขมากกว่าด้วยอีกหน่อยพอเจ้าตัวเล็กเริ่มคลานได้คุณอาจจะต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นแต่ถึงตอนนั้นลูกก็กินอาหารอย่างอื่นนอกจากนมแม่ได้แล้ว
  • ทำงานที่บ้านการทำงานที่บ้านเริ่มแพร่หลายมากขึ้นตั้งแต่มีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์บางคนอาจทำงานที่บ้านสัปดาห์ละวันสองวันและเข้าออฟฟิศในวันที่เหลือบางคนอาจทำงานช่วงที่ลูกหลับ หรือเข้านอนดึกหน่อยตื่นให้เช้าขึ้นแม่บางคนเอาลูกไว้ใกล้ๆหรือบนตักระหว่างทำงานแม่บางคนหาพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลลูกระหว่างที่ตัวเองทำงาน แล้วค่อยไปให้นมเวลาที่ลูกหิว
  • หาที่เลี้ยงลูกในที่ทำงานนายจ้างบางรายใจดีจัดให้มีที่เลี้ยงเด็กในที่ทำงานแม่สามารถไปให้นมลูกได้ช่วงพักหรือให้พี่เลี้ยงโทรมาตามเวลาลูกหิวนมหรืออาจนัดกับพี่เลี้ยงว่าจะไปให้นมลูกช่วงไหนเขาจะได้ไม่ให้นมลูกจนอิ่มไปเสียก่อน
  • หาที่เลี้ยงลูกใกล้ที่ทำงานพ่อแม่บางคู่พยายามหาเนอร์สเซอรีใกล้บ้านแต่บางครั้งเนอร์สเซอรีใกล้ที่ทำงานอาจจะดีกว่าโดยเฉพาะสำหรับคนที่ต้องใช้เวลาเดินทางนานๆ ถ้าเนอร์สเซอรีอยู่ใกล้ที่ทำงานแม่อาจไปให้นมลูกได้ในบางมื้อให้ลูกดูดนมที่เนอร์สเซอรีตอนไปส่งช่วงเช้าและตอนรับกลับช่วงเย็นจะช่วยให้ลดปริมาณนมที่คุณต้องปั๊มระหว่างวันลงไปได้
  • พาลูกไปหาแม่บางครั้งอาจให้คนเลี้ยงซึ่งอาจจะเป็นพ่อ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือพี่เลี้ยงใครก็ได้ที่ยอมลำบากเดินทางเพื่อสุขภาพและความสุขของเจ้าตัวเล็กอุ้มลูกไปหาแม่ในช่วงพักกลางวันหรือช่วงอื่นตามแต่จะสะดวกหรือจะนัดเจอกันครึ่งทางระหว่างบ้านกับที่ทำงานก็ได                                                                                                                                                                                                                                                          งานพาร์ทไทม์ แม่หลายคนเลือกทำงานพาร์ทไทม์ระหว่างที่ลูกยังเล็ก บางคนค่อยๆ เพิ่มเวลาทำงานขึ้นอย่างช้าๆ จนทำเต็มเวลาเมื่อตัวเองและลูกพร้อม  

5.ยืดหยุ่นให้มาก ทารกมักจะสามารถทำให้แม่หลุดออกจากแผนชีวิตในเรื่องหน้าที่การงานที่วางไว้ได้เสมอคาดไว้ก่อนเลยว่าคุณจะต้องเปลี่ยนเครื่องปั๊มนมเปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนพี่เลี้ยงหรือกระทั่งเปลี่ยนงานใหม่พยายามยืดหยุ่นให้มากที่สุดในการวางแผนกลับไปทำงานและให้นมลูกความต้องการของคุณเปลี่ยนไปเรื่อยๆลูกก็เหมือนกันถ้าวิธีที่เคยใช้ได้ผลเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อนใช้ไม่ได้วันนี้ก็หาวิธีใหม่เด็กจะมีความต้องการและความชอบที่ต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย        

คุณอาจจะแปลกใจว่าทำไมถึงได้ติดลูกมากขนาดนั้นรู้สึกว่าการที่ต้องอยู่ห่างจากลูกเป็นเรื่องทำใจยากกว่าที่คิดคุณอาจจะเครียดและเหนื่อยเกินกว่าจะรับไหวพ่อแม่หลายคู่ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และเป้าหมายชีวิตในเรื่องงานของตัวเองไปในช่วงที่เลี้ยงลูกที่ยังเล็กอย่ากลัวที่จะมองหาทางเลือกใหม่ที่คุณอาจจะไม่สนใจมาก่อนที่จะมีลูกไม่ว่าจเป็นการลาออกจากงานหางานใหม่ที่มีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้นเริ่มทำธุรกิจส่วนตัวหรือแม้กระทั่งเปิดเนอร์สเซอรีรับดูแลลูกให้คนอื่นไปพร้อมๆกับเลี้ยงลูกไปด้วย

 6. หาพี่เลี้ยงเด็กที่ยินดีสนับสนุนเรื่องนมแม่ ถ้าเป็นไปได้ควรจะเริ่มมองหาไว้เนิ่นๆตั้งแต่ช่วงท้องจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปวิ่งหาแทนที่จะได้อยู่กับลูกเต็มที่หลังคลอดบอกพี่เลี้ยงที่เลือกเอาไว้ก่อนเลยว่าคุณอยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และจะขอบคุณมากถ้าเขาจะช่วยสนับสนุนคุณในเรื่องนี้มากเท่าที่จะทำได้

 ถ้าพี่เลี้ยงไม่มีความรู้เรื่องนมแม่ที่คุณจะปั๊มให้ลูกค่อยๆสอนเขาอย่างใจเย็นบอกเขาว่านมแม่มีประโยชน์กับลูกอย่างไรสอนให้เขารู้วิธีละลายและอุ่นนมแม่ (เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเลยก็น่าจะดี)จัดระบบการเตรียมเขียนฉลากและจัดเก็บนมแม่ใส่ขวดให้ลูกไว้แต่เนิ่นๆพยายามทำให้ขั้นตอนพวกนี้ง่ายที่สุดพี่เลี้ยงจะได้มีเวลาไปดูแลลูกให้คุณมากกว่ามัวแต่มาวุ่นวายกับขวดนมลองใช้เทคนิคต่อไปนี้เพื่อช่วยให้พี่เลี้ยงเตรียมนมได้เร็วขึ้นลูกของคุณจะได้ไม่ต้องรอนานเวลาหิว

  • นมแม่ที่แช่แข็งให้แยกแช่คราวละไม่มากนักจะได้ละลายได้เร็วขึ้น
  • ละลายนมแม่ที่จะใช้ในวันรุ่งขึ้นโดยการเอาออกจากช่องแช่แข็งแล้วทิ้งไว้ข้ามคืนให้ละลายในช่องแช่เย็นธรรมดาด้านล่างนมที่ละลายแล้วไม่ได้ใช้ภายใน 24ชั่วโมงจะต้องทิ้งไปแต่ถ้าลูกคุณกินนมปริมาณค่อนข้างแน่นอนในแต่ละวันก็ไม่น่าจะมีปัญหา
  • อาจให้พี่เลี้ยงลองป้อนนมแม่แช่เย็นจากตู้เย็นโดยไม่ต้องอุ่นก่อนดู ถ้าลูกยอมกินก็ให้กินได้เลย แต่เด็กส่วนใหญ่จะชอบนมอุ่นๆเหมือนกับที่ดูดจากเต้าของแม่มากกว่า
  • บอกกับพี่เลี้ยงว่าให้อุ้มน้องทุกครั้งเวลาป้อนนมและถ้าร้องหรือโยเยก็ให้อุ้มขึ้นมาถ้าลูกไม่ยอมดูดนมจากขวดลองอ่านหัวข้อ“วิธีฝึกให้ลูกยอมดูดนมแม่จากขวด” สอนพี่เลี้ยงว่าควรจะทำอย่างไรเมื่อน้องแค่รู้สึกอยากดูดจะให้ดูดจุกหลอกหรือนิ้วมือที่ล้างสะอาดแล้วของพี่เลี้ยงก็ได้พยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพี่เลี้ยงเอาไว้แต่จำไว้ว่าเหนือสิ่งอื่นใดก็คือคุณคนเดียวเท่านั้นที่เป็นคนรับผิดชอบและกำหนดความเป็นอยู่ของลูกไม่ใช่ใครคนอื่นที่ไหนทั้งนั้น

 7. ศึกษาวิธีใช้เครื่องปั๊มนมไว้ก่อนล่วงหน้า ก่อนกลับไปทำงานอย่างน้อย 2สัปดาห์เตรียมศึกษาวิธีใช้เครื่องปั๊มเอาไว้ก่อนล่วงหน้าอ่านคู่มือให้เข้าใจวิธีประกอบชิ้นส่วนต่าง เข้าด้วยกันวิธีใช้งานและวิธีทำความสะอาดคู่มือบางเล่มมีคำแนะนำว่าจะปั๊มนมอย่างไรให้ได้มากที่สุดไว้ให้อ่านด้วย

ถ้าสามารถปั๊มนมแช่แข็งเก็บไว้บ้างก่อนกลับไปทำงานได้ก็ยิ่งดีเพราะ จะช่วยให้คุณมั่นใจได้มากขึ้นว่าน่าจะปั๊มนมได้มากพอสำหรับลูกเวลาที่ดีที่สุดในการปั๊มคือช่วงเช้าซึ่งเป็นช่วงที่แม่ๆส่วนใหญ่มีน้ำนมเยอะร่างกายของคุณจะผลิตน้ำนมอยู่เรื่อยๆตลอดเวลาเพราะฉะนั้นถึงคุณจะปั๊มนมออกไปบ้างแล้วตอนลูกหลับก็จะยังมีน้ำนมเหลือพอให้ลูกดูดในมื้อแรกของวันอยู่ดี

เคล็ดลับสำหรับมือใหม่: อย่าตกใจถ้าปั๊มนมได้แค่นิดเดียวในครั้งแรกๆแม่ๆหลายคนงัดปั๊มนมออกมาใช้กะว่าจะปั๊มเก็บไว้ให้ลูกก่อนกลับไปทำงานแต่ปั๊มแทบตายได้มาแค่ครึ่งออนซ์ (หรืออาจจะน้อยกว่านี้ด้วยซ้ำ)ถ้าพยายามหลายครั้งแล้วก็ยังได้แค่นี้คุณอาจจะเริ่มกลัวว่าพอกลับไปทำงานแล้วจะปั๊มนมให้ลูกพอได้อย่างไรเรามีข้อมูลบางอย่างที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้คุณได้มาบอกกัน   

  • อย่ากลัวว่าลูกจะมีนมไม่พอกินร่างกายของคุณไม่ได้ตอบสนองต่อปั๊มเหมือนกับที่ทารกดูดทารกจะดูดนมจากเต้าได้มากกว่าที่เครื่องปั๊มจะปั๊มได้
  • อย่าห่วงว่าจะปั๊มนมได้ไม่พอให้ลูกกินการปั๊มระหว่างมื้อนมตอนอยู่ที่บ้านอาจจะได้น้ำนมไม่มากนักแต่คุณจะปั๊มได้มากกว่านี้เมื่อปั๊มห่างกันสองชั่วโมงครึ่งถึงสามชั่วโมงเวลากลับไปทำงาน
  • กลไกการหลั่งน้ำนมจะตอบสนองต่อปั๊มได้ดีขึ้นเมื่อฝึกปั๊มไปเรื่อยๆถึงตอนนี้กลไกการหลั่งน้ำนมจะทำงานก็ต่อเมื่อลูกดูดไปได้ซักแป๊บแต่ไม่นานร่างกายของคุณก็จะตอบสนองกับปั๊มหรือกิจวัตรประจำที่คุณทำเวลาปั๊มนมในแบบเดียวกัน  

8. ฝึกลูกให้คุ้นกับขวดนม แต่อย่าเริ่มเร็วเกินไป คุณอาจจะได้ยินคำแนะนำประเภทที่ว่า “เริ่มให้นมขวดลูกตอนอายุซักสองอาทิตย์นะจะได้คุ้นไม่งั้นเดี๋ยวจะไม่ยอมดูดขวดเอา” คำแนะนำนี้ผิดอย่างมหันต์ พยายามอย่าให้นมขวดกับลูก โดยเฉพาะในช่วงสามสัปดาห์แรก เพราะเป็นช่วงที่ลูกกำลังฝึกดูดนมแม่ และร่างกายของคุณกำลังพยายามสร้างน้ำนมให้มากพอสำหรับลูกถ้าให้นมขวดเร็วเกินไปเด็กบางคนอาจจะเกิดอาการสับสนระหว่างหัวนมกับจุกนม (Nipple Confusion) ขึ้น

มีบางคนเหมือนกันที่ดูดได้ดีทั้งนมแม่และนมขวด แต่บางคนอาจจะชอบนมขวดมากกว่าที่ไม่ต้องออกแรงดูดมากนักก็มีน้ำนมไหลออกมาเลยกลายเป็นว่าไม่ค่อยยอมกลับไปดูดนมแม่อีกคุณไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าลูกจะเป็นเด็กประเภทไหนจนกว่าจะลองให้นมขวดดูแต่ทางที่ดีอย่าเสี่ยงจะดีกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าลูกของคุณเริ่มต้นการดูดนมแม่อย่างยากลำบากอยู่แล้วให้เวลาเขาเรียนรู้เรื่องการดูดนมแม่เสียหน่อยก่อนจะเริ่มให้ลองของใหม่ไม่ว่าอย่างไรทารกก็จะยอมดูดขวดแต่โดยดีเองเวลาหิวโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าในขวดมีนมของคุณอยู่ข้างใน เอาขวดนมให้ลูกเล่นให้คุ้นก่อนคุณกลับไปทำงานสักสองสัปดาห์อย่าไปกังวลหรือบังคับลูกถ้าเขาไม่ยอมดูดถ้ายอมดูดก็ดีไปแต่ถ้าไม่ยอมก็ไม่เป็นไร ทารกบางคนไม่ยอมดูดนมขวดที่แม่ป้อน (อารมณ์ประมาณว่า “อันนี้มันไม่ใช่แบบนี้นี่นา”) แต่ยอมดูดแต่โดยดีหากเป็นคนอื่นป้อน

9. คุยกับนายก่อน บอกนายก่อนกลับไปทำงานว่าคุณวางแผนที่จะให้นมแม่ต่อคงไม่ค่อยสนุกนักถ้าในวันแรกที่กลับไปทำงานคุณต้องวิ่งวุ่นหาสถานที่ปั๊มนมนมก็คัดปลั๊กไฟที่จะเสียบกับปั๊มก็ไม่มีวางแผนล่วงหน้าจะปั๊มตอนไหนจะเก็บนมที่ไหนเรื่องอื่นๆอย่างเช่นจะไปให้นมลูกตอนพักกลางวันอย่างไรก็ต้องเตรียมคิดล่วงหน้าถ้ารู้จักใครในที่ทำงานที่เคยปั๊มนมให้ลูกลองถามเขาดูว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และเขาแก้ไขอย่างไรในแผนของคุณ คุณต้องนึกเรื่องพวกนี้ล่วงหน้าไว้ก่อน 

  • จะปั๊มตอนไหนคุณต้องปั๊มบ่อยเท่ากับที่ลูกดูดอาจจะทุกสองถึงสามชั่วโมงถ้าทำงานวันละแปดชั่วโมงก็คือปั๊มช่วงสายๆครั้งหนึ่งพักกลางวันครั้งหนึ่งและบ่ายๆอีกครั้งถ้าใช้ปั๊มคู่ที่ปั๊มได้สองข้างในครั้งเดียวจะใช้เวลาปั๊มประมาณ 15-20 นาที ถ้าใช้ปั๊มเดี่ยวที่ปั๊มได้ทีละข้างจะใช้เวลารวมกันประมาณ 30นาที คุณอาจต้องมาเข้างานเช้าหน่อยเลิกสายสักนิดเพื่อชดเชยเวลางานที่เสียไป
  • จะปั๊มที่ไหนที่โต๊ะในห้องน้ำหรือมีห้องไหนว่างและส่วนตัวพอจะใช้เป็นที่ปั๊มได้บ้าง (แขวนป้าย “ห้ามรบกวน” ไว้หน้าห้อง) ถ้ามีห้องพักผู้หญิงก็อาจจะพอใช้ได้ถ้าทำงานในโรงพยาบาลอาจจะมีห้องปั๊มนมตั้งอยู่ใกล้ๆกับห้องเด็กอ่อน
  • ที่ทำงานบางแห่งจัดให้มีที่ปั๊มนมสำหรับแม่ให้นมลูกโดยเฉพาะ ถ้าคุณทำงานบริษัทใหญ่ที่มีผู้หญิงวัยกำลังมีลูกเล็กอยู่เยอะก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะขอให้บริษัทสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยจัดห้องปั๊มนมให้และให้มีปั๊มไฟฟ้าแบบที่ใช้กันตามโรงพยาบาลและตู้แช่เก็บนมเตรียมเอาไว้ให้ใช้กันในห้อง-ถ้าเป็นไปได้ที่ที่คุณปั๊มควรมีปลั๊กไฟให้คุณเสียบกรณีใช้ปั๊มไฟฟ้ามีอ่างสำหรับล้างชิ้นส่วนของปั๊มที่สัมผัสกับน้ำนมอาจจะมีโต๊ะกับเก้าอี้ด้วยเผื่อจะใช้วางอุปกรณ์อาหารกลางวันหรืองานที่คุณหอบเข้าไปอ่านด้วยระหว่างปั๊ม
  • จะเก็บน้ำนมที่ไหนถ้ามีตู้เย็นก็ง่ายหน่อยถ้าไม่มีก็อาจจะต้องหากระติกน้ำแข็งเตรียมไว้ด้วย

คุยกับนายเรื่องแผนของคุณก่อนและขอความสนับสนุนหรือให้เขาช่วยหาทางออกให้ในปัญหาบางเรื่องถึงจะวางแผนล่วงหน้าเอาไว้แล้วแต่คุณก็ควรจะยืดหยุ่นพอจะปรับเปลี่ยนแผนบ้างในบางครั้งท่องเอาไว้เสมอว่าเพราะรู้ว่านมแม่ดีฉันจึงต้องทำให้ได้

10. ปรับตัวเข้ากับตารางชีวิตใหม่ ถ้าเป็นไปได้เลือกกลับไปทำงานวันแรกในวันพุธหรือไม่ก็พฤหัสจะได้ไม่เหนื่อยมากนักเมื่อถึงปลายสัปดาห์และจะได้มีเวลาพักเหนื่อยอีกสองวันก่อนที่จะเริ่มงานอีกครั้งผู้หญิงหลายคนเลือกทำงานสัปดาห์ละสามหรือสี่วันช่วงที่ลูกยังเล็กนอกเวลางานก็ดูแลลูกไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดอะไรที่ทำงานสัปดาห์ละไม่ถึง 5 วัน

 

ทำชีวิตให้ง่ายขึ้น 

11. ทำให้การออกจากบ้านตอนเช้าเป็นเรื่องง่ายขึ้น ลูกจะทำให้กิจวัตรประจำตอนเช้าวันทำงานของคุณไม่ราบรื่นเหมือนเดิมไหนจะมีเรื่องที่ต้องทำมากขึ้นไหนจะมีเรื่องโน้นเรื่องนี้โผล่ขึ้นมาให้ต้องทำต้องแก้เป็นระยะๆลองใช้เทคนิคเหล่านี้ช่วยให้คุณไปเข้างานทันเวลา

  • ตั้งนาฬิกาปลุกเช้าขึ้นเพื่อคุณจะได้ให้นมลูกได้ก่อนลุกออกจากเตียงทีนี้คุณก็อาบน้ำแต่งตัวได้โดยถูกขัดจังหวะน้อยลงหน่อย
  • เตรียมของใช้ให้พร้อมตั้งแต่ก่อนเข้านอนจัดของลูกใส่กระเป๋าเอาขวดนมแช่เตรียมไว้ในตู้เย็นเลือกชุดใส่ไปทำงานล้างอุปกรณ์และเตรียมเครื่องปั๊มนมไว้ให้เรียบร้อย
  • อย่าเข้านอนดึกนัก
  • อุ้มลูกไปส่งให้พี่เลี้ยงทั้งชุดนอน
  • เลือกทรงผมที่ดูแลง่าย จะได้เสียเวลาแต่งผมหน้ากระจกตอนเช้าน้อยลง
  • ถ้ารูปร่างคุณยังไม่เข้าที่ ลงทุนซื้อเสื้อผ้าใหม่ที่เหมาะกับรูปร่างไม่มีอะไรแย่ไปกว่าตื่นเช้ามาเจอว่าตัวเองอ้วนหาชุดใส่ไม่ได้แล้ว
  • ให้ลูกดูดนมก่อนออกจากที่เลี้ยงลูกไปทำงานนมจะได้เกลี้ยงเต้าและคุณจะรู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อไปถึงที่ทำงาน    

12.ทำให้การออกไปทำงานและกลับถึงบ้านเป็นเรื่องของความสุข ให้นมลูกที่บ้านหรือที่เนอร์สเซอรีก่อนไปทำงานและทันทีที่กลับถึงบ้านเพราะลูกจะได้รับนมแม่จากเต้ามากขึ้นและลดปริมาณน้ำนมที่คุณต้องปั๊มในแต่ละวันลงบอกพี่เลี้ยงว่าอย่าป้อนนมขวดลูกก่อนคุณกลับถึงบ้านสักชั่วโมงไม่ค่อยสนุกเท่าไรถ้านมคัดตึงแต่กลับมาเจอลูกอิ่มพุงกางจะหลับมิหลับแหล่อยู่ที่บ้าน

ถ้าลูกหิวหรือคุณคาดว่าจะกลับถึงบ้านช้าหน่อยบอกพี่เลี้ยงให้ป้อนนมแค่พอประทังหิวไปจนกว่าคุณจะกลับถึงบ้านเมื่อถึงบ้านแล้วพยายามสานสัมพันธ์กับลูกให้เวลากับลูกไม่ใช่กระโจนเข้าใส่งานบ้านดึงสายโทรศัพท์ออกเปลี่ยนใส่ชุดสบายๆเปิดเพลงเบาๆฟังนั่งในมุมโปรดกอดลูกให้เขาดูดนมจากอกคุณและสร้างความผูกพันชดเชยเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน

เคล็ดลับ: โทรไปบอกล่วงหน้าแม่คนหนึ่งแบ่งปันประสบการณ์ของเธอ “งานของฉันไม่ค่อยเป็นเวล่ำเวลาบางวันรถก็ติดเลยกะเวลากลับถึงบ้านไม่ค่อยได้ฉันใช้วิธีโทรไปบอกพี่เลี้ยงลูกก่อนล่วงหน้าว่ากำลังจะออกจากที่ทำงานแล้วนะหรือถ้าวันไหนรถติดก็ใช้มือถือโทรไปบอกให้พี่เลี้ยงให้นมลูกประทังหิวไปก่อนจนกว่าฉันจะกลับถึงบ้าน”

13.ทำให้การปั๊มนมเป็นเรื่องง่าย แม่ๆหลายคนคว้าเครื่องปั๊มใส่กระเป๋าใบสวยขนาดกำลังเหมาะแค่นี้ก็ไม่มีปัญหาในการหอบไปทำงานด้วยแล้วพอตอนเย็นก็หอบนมที่ปั๊มกลับบ้านเอาไปให้ลูกกินในวันรุ่งขึ้นเป็นภาพที่ใครเห็นก็ไม่น่าจะว่าแปลกตรงไหนเครื่องปั๊มเป็นอุปกรณ์จำเป็นของแม่ทำงานที่ให้นมลูกและถ้ามีอะไรที่จะช่วยให้การปั๊มนมเป็นเรื่องง่ายขึ้นก็น่าที่จะทำลองเอาความคิดดีๆพวกนี้ไปใช้ดูบ้างก็ได้

  • หาเครื่องปั๊มที่เหมาะกับคุณคุณจะต้องใช้เวลาอยู่กับมันเยอะมากเพราะฉะนั้นถ้าไม่ชอบปั๊มที่ใช้อยู่ทางที่ดีก็น่าจะลงทุนซื้อปั๊มใหม่ซะ
  • เครื่องปั๊มไฟฟ้าดีๆที่ปั๊มได้สองข้างพร้อมกันจะช่วยให้คุณสามารถปั๊มล้างอุปกรณ์และเก็บทุกอย่างเข้าที่ได้ในเวลา 15-20 นาที แค่นี้ก็คุ้มกับที่ต้องจ่ายแพงขึ้นแล้ว
  • การบีบน้ำนมด้วยมือหรือการใช้เครื่องปั๊มคุณภาพไม่ค่อยดีจะทำให้ต้องเสียเวลามากขึ้น อาจจะกลายเป็น 20-30 นาที
  • เลือกชุดทำงานที่เหมาะกับการให้นมลูกเสื้อหลวมๆมีลวดลายจะช่วยพรางน้ำนมที่ไหลเลอะเสื้อผ้าตอนคุณแอบคิดถึงลูกระหว่างการประชุมที่น่าเบื่อหน่ายได้ชุดแบบสองชิ้นจะสะดวกกว่าในการปั๊มนมและให้นมลูก
  • ถ้าวันไหนปั๊มนมครบตามเวลาไม่ได้อย่างน้อยปั๊มสัก 5-10 นาทีก็ยังดีกว่าไม่ปั๊มเลย ถ้าไม่ได้ปั๊มนมตามตารางเวลาบ่อยๆจะทำให้น้ำนมลดน้อยลงได้
  • ถ้างานของคุณทำให้จัดตารางเวลาปั๊มนมได้ยากอาจจะต้องพยายามหาเวลาปั๊มนมทุกๆกี่ชั่วโมงก็ว่าไปบางทีอาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานของคุณในเรื่องนี้บ้างอย่าไปคิดว่าการปั๊มนมทำให้คุณต้องสูญเสียอิสรภาพให้คิดว่ามันเป็นโอกาสให้คุณฝึกที่จะมีวินัยมากขึ้นดีกว่า
  • ถ้าวางแผนจะปั๊มในห้องทำงานจัดที่หลบมุมสักหน่อยเผื่อมีใครเดินเข้ามาแบบกระทันหันอาจจะวางหนังสือหรือกองเอกสารไว้ที่มุมโต๊ะบังไว้ทั้งคุณทั้งแขกจะได้ไม่ต้องมีเรื่องให้ต้องกระอักกระอ่วนใจภายหลัง
  • ถ้ามีใครในที่ทำงานของคุณปั๊มนมให้ลูกเหมือนกันลองหาโอกาสพักหรือทานอาหารกลางวันด้วยกันระหว่างที่ปั๊ม เป็นการชดเชยที่เสียโอกาสที่จะได้ไปทานอาหารกลางวันร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ
  • หากำลังใจจากแม่ที่ทำงานและปั๊มนมเหมือนๆ กัน
  • ท่องเอาไว้ว่าคุณแค่ปั๊มนมให้ลูกเป็นช่วงเวลาสั้นๆแค่นั้นไม่ใช่ว่าจะต้องปั๊มตลอดไป  

 เคล็ดลับ: อย่าเสียดายนมที่หกไปแล้วเตรียมใจไว้เลยว่าอาจจะต้องทิ้งนมไปบ้างเป็นเรื่องทำใจยากหน่อยที่เห็นน้ำนมหกนองบนพื้นแต่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าจะระวังมากแค่ไหนก็ตาม

14.ขอแรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงาน อาจมีเพื่อนร่วมงานของคุณบางคนบ่นเรื่องที่คุณแวบไปปั๊มนมบ่อยๆบางคนอาจจะอยากออกความเห็นเรื่องปั๊มของคุณเรื่องนมที่แช่อยู่ในตู้เย็นหรือเรื่องเวลาที่คุณให้กับลูกคำพูดพวกนี้คงทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจนักและอาจกลายเป็นเรื่องหมางใจกันระหว่างเพื่อนร่วมงานไปได้ ลองใช้คำแนะนำต่อไปนี้ดูเผื่อจะช่วยให้เพื่อนร่วมงานหันมาเป็นแนวร่วมของคุณได้

  • ใช้อารมณ์ขันหัวเราะไปเลยเวลามีคนแหย่คุณเกี่ยวกับเรื่องนี้
  • เฉยๆไว้ไม่ต้องกระโตกกระตากอะไรในที่ทำงานบางคนเขาไม่รู้หรอกว่าคุณเก็บอะไรไว้ในกระเป๋าหรือตู้เย็น
  • บอกเพื่อนร่วมงานว่าลูกของคุณจำเป็นต้องได้รับนมแม่เนื่องจากเหตุผลทางการแพทย์ เช่น “ลูกฉันเป็นภูมิแพ้” (อันนี้ไม่เชิงโกหกเสียทีเดียว เพราะเราเชื่อว่าทารกส่วนใหญ่มีอาการแพ้บางอย่างต่อนมผงอยู่แล้ว) การอ้างเหตุผลทางการแพทย์ยังช่วยให้เพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้ให้นมแม่กับลูกไม่รู้สึกผิดอีกด้วย
  • บอกเล่าประโยชน์ของนมแม่ให้คนอื่นฟังโดยเฉพาะคนหลักๆที่คุณติดต่อด้วย (“สามีของฉันเป็นภูมิแพ้อย่างหนัก แต่นมแม่จะช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นเหมือนกันได้” หรือ “หกเดือนแล้วนะยังไม่เคยเป็นหูอักเสบเลย”) ถ้าบังเอิญคุณต้องขาดงานเพราะไข้หวัดใหญ่ อาจจะเอาไปเล่าให้เพื่อนร่วมงานฟังว่าลูกของคุณแค่เป็นหวัดนิดหน่อยหรือไม่เป็นอะไรเลย เพราะได้ภูมิคุ้มกันจากนมแม่ที่คุณให้กับลูกก็ได้
  • เล่าให้เพื่อนร่วมงานฟังว่าการให้ลูกดูดนมแม่เวลาอยู่บ้านและการปั๊มนมให้ลูกตอนอยู่ที่ทำงานช่วยให้คุณรู้สึกผูกพันกับลูกมากแค่ไหน
  • ขอบคุณเพื่อนร่วมงานที่ช่วยทำงานแทนให้ตอนคุณไปปั๊มหรือให้นมลูกและช่วยเหลือเขาเป็นการตอบแทนเวลาที่เขาต้องการให้คุณช่วย
  • ตั้งอกตั้งใจฟังเวลามีเพื่อนร่วมงานเล่าประสบการณ์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของเขาให้ฟังโดยเฉพาะถ้าเขาทำไม่สำเร็จบอกเขาว่าเขาพยายามทำดีที่สุดแล้ว
  • บอกข้อเท็จจริงและสถิติตัวเลขเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เพื่อนร่วมงานฟังหรือแค่บอกว่าคุณอยากให้นมแม่ต่อเพราะหมอเด็กแนะนำก็ได้ 
ถ้าสามารถปั๊มนมที่โต๊ะทำงานได้เลยก็จะสะดวกมากๆ เพราะทำงานไปด้วย ปั๊มนมไปด้วยโดยใช้ hands free bra หรือทำอุปกรณ์ hands free ใช้เอง มีผ้าคลุมผืนหนึ่งก็เรียบร้อยแล้ว การปั๊มนมที่โต๊ะทำงานแบบนี้ ช่วยลดความเครียดและความกังวลได้มาก เพราะไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเพื่อนร่วมงานตำหนิว่าเอาเวลางานไปปั๊มนม คุณแม่หลายท่านเริ่มปั๊มวันแรกๆ เพื่อนร่วมงานอาจจะฮือฮา อาจจะรู้สึกเขินบ้าง แต่ทำไปนานๆ ก็ชิน สุดท้ายทุกคนก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ เวลาปั๊มนมในที่ทำงาน ไม่จำเป็นต้องล้างอุปกรณ์ปั๊มทุกครั้ง หลังจากปั๊มเสร็จให้แยกอุปกรณ์ปั๊มทั้งหมดที่สัมผัสน้ำนมเก็บไว้ในถุงซิปล็อค หรือกล่องที่มีฝาปิด แช่ไว้ในตู้เย็น แล้วนำมาปั๊มใหม่ได้ตลอดวัน ตอนเย็นนำไปกลับไปล้างที่บ้านวันละครั้งก็พอ

 

รักษาปริมาณน้ำนม  

15.  ระหว่างวันทำงาน หาโอกาสให้นมลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจะบ่อยแค่ไหนก็ขึ้นกับชั่วโมงทำงานในแต่ละวันของคุณ  คุณแม่ส่วนใหญ่ให้นมลูกได้อย่างน้อยสี่ครั้งต่อวันช่วงวันทำงานตอนเช้าก่อนไปทำงานหนึ่งครั้งตอนเย็นสองครั้งก่อนนอนอีกหนึ่งครั้งถ้าคุณไปทำงานแต่เช้าตรู่จนถึงช่วงบ่ายหรือเย็นอาจให้พี่เลี้ยงป้อนนมแม่ที่คุณปั๊มไว้ให้ลูกโดยใช้ขวดแต่ถ้าโชคดีมีที่เลี้ยงลูกแถวๆที่ทำงานคุณอาจเดินไปให้นมลูกช่วงพักและกลางวันและไม่ต้องปั๊มนมเลยก็เป็นได้

16. ให้ลูกดูดนมแม่อย่างเดียวเวลาไม่ได้ไปทำงาน ถ้าอยากให้ปริมาณน้ำนมคงที่ให้ลูกดูดนมบ่อยๆเพื่อชดเชยช่วงเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันพยายามให้ลูกดูดนมขวดเฉพาะเวลาที่คุณไปทำงานหรือไปข้างนอกและดูดนมแม่อย่างเดียวเวลาที่คุณอยู่ด้วยวิธีนี้จะช่วยรักษาปริมาณน้ำนมของคุณไว้และยังจะทำให้คุณกับลูกรู้สึกผูกพันกันอีกด้วยอย่าให้นมขวดถ้าคุณสามารถให้เขาดูดจากอกคุณได้คุณจึงต้องให้ลูกดูดจากอกช่วงที่อยู่ด้วยกันเพื่อรักษาปริมาณน้ำนมและเพื่อให้ลูกยังคงชอบดูดนมคุณต่อไป

แม่ส่วนใหญ่ที่ทำงานสัปดาห์ละห้าวันตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์พบว่าปริมาณที่ปั๊มได้จะลดลงเรื่อยๆจากต้นถึงปลายสัปดาห์และกลับมารู้สึกว่าเต้านมตึงและปั๊มได้มากขึ้นในวันจันทร์หลังจากให้ลูกดูดเต็มที่ช่วงสุดสัปดาห์บางคนถึงกับต้องปั๊มบ่อยขึ้นเพื่อไม่ให้นมคัดเลยทีเดียว (นมส่วนเกินนี้ให้เก็บไว้ใช้ช่วงปลายสัปดาห์ตอนที่ปั๊มได้น้อยลง) หลังจากผ่านไปสักสองสามสัปดาห์ร่างกายของคุณจะปรับตัวสร้างปริมาณน้ำนมได้พอดีกับที่ลูกต้องการ

17. สนุกกับการให้นมลูกตอนกลางคืน ทารกส่วนใหญ่ที่แม่ออกไปทำงานตอนกลางวันจะหันไปดูดนมตอนกลางคืนบ่อยขึ้นเพื่อเป็นการชดเชยเด็กบางคนนอนมากขึ้นและกินนมน้อยลงตอนกลางวันหลังจากที่แม่กลับไปทำงานและหันไปดูดนมถี่ๆช่วงกลางคืนแทน

จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องดี แม่ที่ประสบความสำเร็จในการให้นมลูกหลังกลับไปทำงานเข้าใจว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้แถมออกจะชอบอกชอบใจด้วยซ้ำพวกเธอพาลูกไปนอนด้วยกันทำให้ได้พักไปด้วยระหว่างที่นอนให้นมลูกและดีใจที่มีโอกาสที่จะได้อยู่ใกล้ชิดลูกเพิ่มขึ้น (พ่อที่ทำงานก็น่าจะชอบนะแบบนี้)อันที่จริงแล้วหลายคนบอกว่านอนหลับสนิทกว่าด้วยซ้ำเวลามีลูกนอนอยู่ข้างๆถึงแม้ว่าลูกจะดูดนมทั้งคืนก็เถอะแม่จะรู้สึกผ่อนคลายและหลับได้สนิทลูกก็รู้สึกสงบและอบอุ่นที่ได้นอนข้างแม่อีกอย่างการให้ลูกดูดนมนานๆตอนเช้าตรู่ก่อนลุกจากเตียงยังช่วยให้เจ้าตัวเล็กหลับหรืออย่างน้อยก็อารมณ์ดีระหว่างที่แม่เตรียมตัวไปทำงาน

18. ถ้าพยายามอย่างถึงที่สุดแล้วนมแม่ยังก็ไม่พอหรือมีเหตุจำเป็นคุณสามารถให้นมแม่ร่วมกับนมผงได้ให้นมแม่ร่วมกับนมผงก็ยังดีกว่าให้นมผงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าจะมีแม่จำนวนมากที่สามารถให้นมแม่ล้วนๆแก่ลูกได้เป็นเวลาหลายเดือนหลังกลับไปทำงานก็ยังมีบางคนที่ต้องให้นมผงเสริมแก่ลูกเวลาที่ปั๊มนมได้ไม่พอบางคนก็ให้ลูกดูดนมแม่เฉพาะเวลาอยู่ด้วยกันและให้นมผงเวลาไปทำงานถ้าคุณเลือกที่จะให้นมแม่ควบคู่ไปกับนมผงคิดสักนิดว่าจะจัดระบบการให้นมสองอย่างนี้อย่างไรไม่งั้นคุณอาจจะเจอปัญหาว่าลูกอยากหย่านมเร็วกว่าที่คุณคิดและการให้นมผงมากๆจะทำให้น้ำนมคุณเองลดลง

 

ลดระดับความเครียดของคุณ

19.ดูแลตัวเอง ไหนจะงานไหนจะลูกคุณอาจจะรู้สึกว่านอกจากสองเรื่องนี้แล้วคงแทบไม่มีทางจะทำอะไรอย่างอื่นได้สำเร็จอีกแล้วซึ่งจริงๆแล้วมันก็เป็นอย่างนั้นแต่ก็อย่าละเลยการดูแลตัวเองล่ะโชคดีที่การให้นมลูกช่วยคุณได้ในเรื่องนี้

เมื่อกลับจากทำงานให้คุณตรงไปนอนให้นมลูกถ้าคุณกับลูกงีบหลับด้วยกันได้ช่วงนี้สั้นๆครอบครัวของคุณก็จะพลอยได้พักไปด้วยหาอาหารว่างง่ายๆที่มีประโยชน์กินจะได้ไม่หิวจนต้องรีบกินอาหารเย็นสนุกกับเจ้าตัวเล็กของคุณถ้ามีลูกคนโตอย่าลืมให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมด้วยอีกคน

คุณควรทำชีวิตที่บ้านให้เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อจะได้ให้ความสนใจกับเจ้าตัวน้อยและคนอื่นในครอบครัวมากกว่าจะมัวแต่ไปซักรีดเสื้อผ้าซื้อของใช้ทำความสะอาดทำอาหารหรือจัดบ้านและสามีของคุณก็คงยินดีช่วยทำงานบ้านมากขึ้นถ้ามันไม่ยุ่งยากมากนักคุณอาจจะจ้างคนมาช่วยทำงานบ้านบางอย่างไปเลยก็ได้ถ้าพอจะจ่ายไหว งานบางอย่างเช่นขัดล้างหน้าต่างหรือรีดผ้าอาจจะเลิกทำไปก่อนสักสองสามปีใช้เป้อุ้มอุ้มเจ้าตัวเล็กไปด้วยเวลาทำงานบ้านบางอย่างเช่นรดน้ำต้นไม้หรือแยกผ้าจะได้มีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้นอีกนิด

20.ช่วยกันเลี้ยงลูก ช่วยกันทำงานบ้านถ้าแม่เป็นคนให้นมลูกและช่วยหารายได้พ่อก็ควรจะช่วยดูแลลูกและทำงานบ้านบ้างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นภาระของทั้งครอบครัว อธิบายให้สามีของคุณฟังถึงประโยชน์ของนมแม่ลูกวัยเรียนก็น่าจะมีส่วนช่วยรับภาระงานในบ้านด้วยเพื่อเขาจะได้นำนิสัยอันนี้ไปใช้ในครอบครัวตัวเองเมื่อโตแล้ว

จริงๆแล้วคุณกำลังสร้างบรรทัดฐานสองเรื่องความสำคัญของการให้นมแม่กับลูกและผลดีของการรับผิดชอบร่วมกันของทั้งครอบครัวไหนจะให้นมลูกไหนจะทำงาน คุณไม่เหลือแรงพอจะทำทั้งน้ำนมเงินอาหารเย็นหรือหน้าที่สารพัดของการเป็นภรรยาได้หมดหรอกให้คนอื่นทำงานบางอย่างแทนคุณบ้างคุยเรื่องความรับผิดชอบเหล่านี้กับสามีของคุณและลูกที่โตพอแล้วให้เขาแบ่งเบางานเหล่านี้จากคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้